ค้นหาบทความ

วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2554

วันรักการอ่าน

วันรักการอ่าน

ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา - นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน "วันรักการอ่าน"
พร้อมทั้งมอบโล่และเกียรติบัตรให้แก่อาสาสมัครรักการอ่าน
ผู้ชนะการประกวดมุมหนังสือในบ้านและในสถานประกอบการ เมื่อวันเสาร์ที่ ๒
เมษายน ๒๕๕๔

รมว.ศธ.กล่าวว่า รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของการอ่าน
ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเรียนรู้ที่มีคุณภาพตลอดชีวิต
เพราะการอ่านเป็นเครื่องมือชนิดเดียวที่ทำให้คนสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้มาอย่างยาวนาน
และสามารถสร้างสมองค์ความรู้เพื่อขยายผลไปยังผู้อื่นได้
โดยมุ่งหวังที่จะเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนของสังคม ตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน
สถานที่ทำงาน สถานประกอบการ สถานศึกษา ตลอดจนองค์กรต่างๆ ของสังคม
เข้ามามีบทบาทต่อการส่งเสริมการอ่าน
ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า คนไทยให้ความสนใจต่อการอ่านมากขึ้น
มีมาตรการและกลวิธีต่างๆ ที่เข้ามาสนับสนุนการอ่าน
แต่จะต้องมีการระดมทรัพยากรจากทุกภาคส่วนเพื่อสร้างนิสัยรักการอ่านให้เป็นนิสัยประจำชาติให้ได้

คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติเมื่อวันที่
๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๒ และกำหนดให้วันที่ ๒ เมษายนของทุกปี เป็นวันรักการอ่าน
ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี องค์ต้นแบบนักอ่านด้วย นอกจากนี้ยังได้เห็นชอบให้ปี
๒๕๕๒-๒๕๖๑ เป็นทศวรรษแห่งการอ่าน
และมีมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อจูงใจผู้ซื้อหนังสือและสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ส่งเสริมการอ่านให้กับโรงเรียนและสถานศึกษา
ตลอดจนองค์กรนิติบุคคลต่างๆ สามารถลดหย่อนภาษีได้ ๒ เท่าของราคาหนังสือ
แต่ไม่เกินร้อยละ ๑๐ ของรายได้สุทธิ
เพื่อส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีแรงจูงใจในการร่วมกันขับเคลื่อนการอ่านอย่างแท้จริง

ศธ.ในฐานะที่รับผิดชอบการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง
ที่จะต้องส่งเสริมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้
ให้สอดรับกับเป้าหมายในการสร้างพลเมืองยุคใหม่ ที่มีความใฝ่รู้ ใฝ่ดี
คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น มีความเป็นสากล มีความเป็นพลเมือง
ภาคภูมิใจในความเป็นไทย
ซึ่งการขับเคลื่อนให้พลเมืองมีคุณลักษณะและทักษะการเรียนรู้ข้างต้น
การอ่านถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะสร้างเสริมลักษณะเบื้องต้นในการใฝ่รู้อย่างแท้จริง

จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต
โดยมี รมว.ศธ.เป็นประธาน
และได้จัดประชุมเพื่อกำหนดเป้าหมายและกำหนดแผนการดำเนินงาน จำนวน ๕ แผน
ซึ่งมีงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนในปี ๒๕๕๔-๒๕๕๕ วงเงินกว่า ๔๐๐ ล้านบาท
ดังนี้

แผนงานรณรงค์นิสัยรักการอ่าน เพื่อสร้างนิสัยรักการอ่านให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง

แผนงานเพิ่มสมรรถนะการอ่าน เพื่อพัฒนาสมรรถนะการอ่าน ให้มีการอ่านคล่อง
เขียนคล่อง ทั้งเด็กในวัยเรียนและคนวัยทำงาน

แผนงานการสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในการอ่าน เช่น ห้องสมุด ๓ ดี
ห้องสมุดประชาชน ห้องสมุดเฉลิมราชกุมารี และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ

แผนงานเครือข่ายความร่วมมือการอ่าน
ซึ่งการส่งเสริมการอ่านไม่สามารถทำได้เฉพาะในส่วนราชการเท่านั้น
จะต้องอาศัยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)
ช่วยขับเคลื่อนกับภาคีเครือข่าย เช่น สถานประกอบการ
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

แผนงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการอ่าน โดยจะทำวิจัยเพื่อหาคำตอบว่า
คนไทยชอบอ่านหนังสือแบบใด อ่านหนังสืออะไร
กระบวนการพัฒนาจากการอ่านหนังสือแบบเดิม
เป็นการอ่านหนังสือจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ควรทำอย่างไร
การอ่านช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและเยาวชนได้อย่างไร

จากรายงานสถิติในปี ๒๕๕๑-๒๕๕๒ พบว่าคนไทยอ่านหนังสือเพียง ๕ เล่มต่อปี
ซึ่งคาดว่าหากสามารถดำเนินการได้ตามแผนงานส่งเสริมการอ่าน ภายใน ๓
ปีจะมีแนวโน้มสถิติการอ่านที่ดีขึ้น และในปี ๒๕๖๑
จะสามารถเพิ่มจำนวนการอ่านหนังสือของคนไทยให้เป็น ๑๐
เล่มต่อปีได้อย่างแน่นอน โดยมีสิ่งสำคัญที่ ศธ.จะต้องเร่งผลักดันโดยเร็ว
คือ การสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการส่งเสริมการอ่าน
และการสร้างภาคีเครือข่ายในการส่งเสริมการอ่าน

รมว.ศธ.ได้กล่าวเชิญชวนนักการเมือง ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
เจ้าของสถานประกอบการ ร่วมเป็นต้นแบบในการเป็นนักอ่าน
และได้ประกาศยืนยันว่า ศธ.จะขับเคลื่อนให้การอ่านเป็นนิสัยประจำชาติ
เพื่อสนองตอบต่อการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตามเป้าหมายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองอย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น: